ประวัติสำนักศิลปะและวัฒนธรรม

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เดิมชื่อ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครูฉบับแรก กำหนดให้วิทยาลัยครู มีหน้าที่ประการหนึ่ง คือ การทำนุบำรุงศาสนาและศิลปวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับการยกฐานะเป็นสถาบันราชภัฏ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักศิลปวัฒนธรรม ต่อมา พ.ศ. ๒๕๔๗ สถาบันราชภัฏ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ทำให้สำนักศิลปวัฒนธรรม เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักศิลปะและวัฒนธรรม จนถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่ ณ ชั้น ๑ อาคาร ๑๐๐ ปี ประสิทธิ์ สุนทโรทก และมีผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ตามลำดับ ดังนี้

๑. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุบรรณ จันทบุตร       พ.ศ. ๒๕๒๑ – ๒๕๒๔
๒. รองศาสตราจารย์อุดม พรประเสริฐ         พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๓๔
๓. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุดใจ บุญอารีย์         พ.ศ. ๒๕๓๕ – ๒๕๓๘
๔. ผู้ช่วยศาสตราจารย์คนึงนิตย์ จันทบุตร      พ.ศ. ๒๕๓๙ – ๒๕๔๕
๕. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทินกร อัตไพบูลย์        พ.ศ. ๒๕๔๖ – ๒๕๕๒
๖. ดร. กิตติรัตน์ สีหบัณฑ์                      พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๖๐
๗. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุปิยา ทาปทา      พ.ศ. ๒๕๖๐ – ปัจจุบัน

นอกจากนี้ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ยังดำเนินการด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และศิลปกรรมท้องถิ่น ในนาม หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี อีกทางหนึ่งด้วย

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มีแหล่งเรียนรู้ที่เป็นศูนย์กลางในการเสริมสร้างสำนึกท้องถิ่นในด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ในนาม หอวัฒนธรรมอุบลนิทัศน์ อีกทั้งยังมีศูนย์ข้อมูลเก็บรวบรวมเอกสาร หนังสือ และข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรม เปิดบริการเพื่อการค้นคว้าแก่บุคคลทั่วไป อีกด้วย

ตราสัญลักษณ์ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

เจดีย์ด้านบน หมายถึง องค์พระธาตุพนม ซึ่งเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งภาคอีสาน
นาค ๒ ตน ด้านข้าง หมายถึง ความเชื่อเรื่องพญานาค ๒ ตน คือ ทะนะมูลนาคและทะนะชีนาค ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ควักพื้นแผ่นดินจนกลายเป็นแม่น้ำมูลและชี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี
ดอกบัว หมายถึง ดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี
ฐานรองรับเจดีย์ หมายถึง ฐานที่มีลักษณะคล้ายธรรมาสน์สิงห์ ซึ่งเป็นศิลปะของจังหวัดอุบลราชธานี