Page 14 - แม่ดีเด่นราชภัฏ ประจำปี ๒๕๖๖ : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
P. 14
พระราชประวัติ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระธิดาของ
พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) กับหม่อมหลวงบัว
กิติยากร ทรงพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ณ บ้านของพลเอก
เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) บิดาของหม่อมหลวงบัว ตั้งอยู่ถนน
พระราม ๖ จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือ กรุงเทพมหานคร) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๗ พระราชทานนาม “สิริกิติ์” มีความหมายว่า “ผู้เป็นศรีแห่งราชสกุลกิติยากร” ฐานันดรศักดิ์
หม่อมราชวงศ์ มีพระเชษฐาและพระกนิษฐา ดังนี้
๑. หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร
๒. หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร
๓. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
๔. หม่อมราชวงศ์บุษบา กิติยากร
เมื่อแรกพระราชสมภพ ทรงอยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ และท้าววนิดาพิจาริณี
ผู้เป็นคุณตาและคุณยาย เนื่องจากหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (พระยศขณะนั้น) ทรงย้ายจาก
ราชการทหารไปดำรงตำแหน่งเลขานุการสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา
และเมื่อหม่อมหลวงบัวให้กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร แล้วจึงเดินทางตามไปภายหลัง
พุทธศักราช ๒๔๗๗ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร มีชันษาประมาณ ๒ ขวบเศษ หม่อมเจ้านักขัตร
มงคล กิติยากร ทรงขอลาออกจากราชการ พาครอบครัวกลับประเทศไทย พำนักอยู่ ณ ตำหนักของ
ราชสกุลกิติยากร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองผดุงกรุงเกษม ย่านเทเวศร์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงฉายพระรูป
ร่วมกับ หม่อมหลวงบัว กิติยากร หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร
หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร
หม่อมราชวงศ์บุษบา กิติยากร และ หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร
พุทธศักราช ๒๔๘๐ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เริ่มการศึกษา เข้าเรียนชั้นอนุบาล
ที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด เนื่องจากขณะนั้นอยู่ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา กรุงเทพมหานคร
ถูกโจมตีทางอากาศบ่อยครั้ง การคมนาคมไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยนัก จึงย้ายไปศึกษาที่
โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ คอนแวนต์ สามเสน ซึ่งอยู่ใกล้วัง ในชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
นอกจากการเรียนตามหลักสูตรปกติแล้ว ได้เรียนเพิ่มเติมฝึกฝนด้านภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส
และเลือกวิชาการดนตรีด้วยความตั้งใจ คือ เปียโน
๑๒